เสาเข็ม เรื่องต้องรู้ก่อนต่อเติมบ้าน

Facebook Twitter Email
          ...ในงานต่อเติมบ้านนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ระบบรากฐาน สิ่งที่จะเป็นตัวชี้วัดคุณภาพของงานต่อเติมนั้นว่าจะมีอายุยืนยาวหรือมีสภาพมั่นคงแข็งแรงหรือไม่??

         ฉะนั้นเรื่องต้องรู้ก่อนที่คุณจะเริ่มต่อเติมบ้าน คือ “เสาเข็ม” นั่นเอง เสาเข็ม คืออะไร??
          เสาเข็ม (Pile) คือ ส่วนประกอบของโครงสร้างที่อยู่ใต้สุดของอาคาร มีลักษณะเป็นท่อนฝังในดินเชื่อมต่อกับฐานราก ทำหน้าที่รับน้ำหนักอาคารทั้งหลัง สำหรับประเภทของเสาเข็มนั้นสามารถจำแนกได้หลายลักษณะไม่ว่าจะเป็นประเภทของการรับกำลัง ประเภทของวัสดุ หรือจำแนกย่อยไปตามลักษณะการติดตั้ง ฯลฯ แต่เพื่อการง่ายต่อการนำไปใช้งานสำหรับทุกท่านที่อาจไม่ได้อยู่ในสายงานก่อสร้าง ผขอจำแนกการเลือกเสาเข็มในการต่อเติมบ้านเพื่อนำไปใช้งานได้อย่างง่ายดังนี้

1. เสาเข็มที่รับน้ำหนักด้วยแรงเสียดทาน (Friction pile) เสาเข็มที่ถ่ายน้ำหนักของตัวอาคารในส่วนที่ต่อเติม ลงไปยังชั้นดินด้วยแรงเสียดทานของตัวเสาเข็ม ในงานต่อเติมที่นิยมใช้กันมาก เช่น เสาเข็มหกเหลี่ยม เป็นต้น ซึ่งในแต่ละพื้นที่ก็จะใช้จำนวน และขนาดไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับการคำนวณของวิศวกร ราคาไม่สูง อายุการใช้งานขึ้นอยู่กับความหนาแน่นของชั้นดิน ที่ได้ทำการเจาะลงไป ซึ่งปกติจะอยู่ในชั้นผิวดินที่ลงไปไม่ลึกมากนัก

2.เสาเข็มดาล (End bearing pile) อธิบายอย่างง่ายก็คือเสาเข็มที่ถ่ายน้ำหนักลงไปชั้นดินแข็ง ตารางน้ำหนักส่วนใหญ่อยู่ที่ปลายเสาเข็ม ในงานต่อเติมที่พบบ่อย คือ เสาเข็มตอก เสาเข็มไมโครไพล์ และเสาเข็มเจาะ ซึ่งราคาของเสาเข็มชนิดนี้จะมีราคาสูงกว่า และสามารถเลือกใช้ได้ตามลักษณะและความจำกัดของหน้างาน ความลึกขึ้นอยู่กับวิศวกรคำนวณเช่นกัน เสาเข็มชนิดนี้จะมีความลึกที่ใกล้เคียงกันกับตัวอาคารหลัก

          เราอาจจะได้ยินคำว่า "เสาเข็มลึกเท่าตัวบ้าน" อยู่บ่อยครั้ง ซึ่งหมายถึงว่า การลงเสาเข็มมีความลึกเท่ากับความสูงของตัวบ้าน จะสามารถรับน้ำหนักได้ดีเสมือนเสาเข็มของตัวบ้าน และลดอัตราการทรุดตัวที่ไม่เท่ากันของตัวบ้านกับส่วนต่อเติมได้ดีกว่าเสาเข็มที่รับน้ำหนักด้วยแรงเสียดทานมากส่วนการรับน้ำหนักและความลึกของเสาเข็มนั้น วิศวกรจะผู้คำนวณจากน้ำหนักของอาคาร และถ่ายน้ำหนักผ่านเสาเข็มลงสู่ชั้นดิน ซึ่งชั้นดินและความลึกของแต่ละพื้นที่จะมีความแตกต่างกัน จึงต้องทำการสำรวจชั้นดินหรือใช้ข้อมูลจากส่วนโยธาของแต่ละพื้นที่มาใช้ประกอบการตัดสินใจ ​ ฉะนั้นการต่อเติมบ้านแต่ละครั้ง อาจมีข้อจำกัดของพื้นที่ทำให้ต้องพิจารณาเป็นส่วนไป ข้อดีข้อเสียต่างกัน เจ้าของบ้านต้องปรึกษาและประเมินกับวิศวกรอีกครั้ง เพื่อสร้างความมั่นใจในความมั่นคงแข็งแรง หลายครั้งที่การต่อเติมบ้านจากช่างที่ไม่มีความเชี่ยวชาญทำให้เกิดอุบัติเหตุ แม้จะช่วยประหยัดงบประมาณแต่ก็อยู่ในความเสี่ยง การต่อเติมบ้านย่อมส่งผลกระทบกับโครงสร้างไม่มากก็น้อย หรือจะเลือกปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งข้อดีคือจะช่วยคุมค่าใช้จ่ายในงบเงินที่ได้กำหนดไว้ เพื่อความยั่งยืนและได้ประโยชน์คุ้มค่าสูงสุด

---------
WRITER : ธนกร ประพฤติกิจ วิศวกรโยธา
การศึกษา วิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
การทำงานปัจจุบัน
กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ เอ็น โอ โปรเกรส จำกัด
กรรมการผู้จัดการ บริษัท โกรโฮม โปรเจ็คท์ จำกัด
คณะกรรมการสาขายุววิศวกร วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ปี 2563-2565

ไอเดียแต่งบ้าน