ไอเดีย : สร้าง ‘ฟาร์ม’ สุข ปลูกผักออร์แกนิคในรั้วบ้าน
Facebook Twitter Email
สร้าง 'ฟาร์ม' สุขในรั้วบ้าน
ปลูกผักออร์แกนิคทานเองได้ง่าย ๆ ปลอดภัย ประหยัดค่าใช้จ่าย
 
          หลาย ๆ คนคงมีประสบการณ์ทานอาหารออร์แกนิคกันใช่ไหมครับ ? อย่างที่ทราบกันครับว่า อาหารออร์แกนิคจะช่วยลดการบริโภคสารตกค้างที่อยู่ในอาหารได้ แต่ถ้าต้องไปซุปเปอร์มาร์เก็ตแล้วซื้ออาหารออร์แกนิคมาทานกันบ่อย ๆ ก็คงต้องเสียค่าใช้จ่ายในแต่ละครั้งไม่น้อยเลย วันนี้ผมมีไอเดียสร้าง ‘ฟาร์ม’ สุข ปลูกผักออร์แกนิคในรั้วบ้าน มาฝากทุกคนกันด้วยครับ เป็นไอเดียที่จะทำให้ทุกคนปลูกผักออร์แกนิคทานได้เองที่บ้าน นอกจากจะได้ลิ้มรสชาติจากผักสด ๆ กันแล้ว เรายังได้ทั้งความสนุก ความสุขและความรู้ไปพร้อม ๆ กันด้วยนะครับ



          สำหรับใครที่ยังไม่รู้ว่าจะเริ่มทำสวนผักออร์แกนิคยังไง ผมแนะนำให้เริ่มจากการจ้างผู้เชี่ยวชาญมาสร้างหรือออกแบบฟาร์มผักให้ก่อนก็ได้ครับ เพราะผู้เชี่ยวชาญสามารถแนะนำวิธีการดูแลและตกแต่งฟาร์มผักให้สวยงามได้ หรือถ้าใครอยากสร้างฟาร์มผักออร์แกนิคด้วยตัวเอง ก็สามารถเตรียมอุปกรณ์ และค่อย ๆ สร้างไปทีละเล็กน้อย นำเมล็ดหรือพันธุ์พืชสัก 2-3 ชนิด มาทดลองปลูก การเริ่มสร้างฟาร์มผักด้วยตัวเอง รอดูมันค่อย ๆ เติบโต ก็ทำให้มีความสุขไปอีกแบบนะครับ
          อย่างที่ทราบกันครับว่า การสร้างฟาร์มผักออร์แกนิคนั้นจะไม่ใช้ปุ๋ยเคมีหรือยาฆ่าแมลง แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าผักที่ปลูกกันนั้นจะป้องกันตัวเองไม่ได้นะครับ อีกทั้งยังมีอีกหลาย ๆ วิธีที่ใช้ดูแลผักและกำจัดศัตรูพืชอีกด้วย




เตรียมดิน

          ก่อนอื่น มาเริ่มกันที่การเตรียมดินกันก่อนครับ เพื่อให้ฟาร์มผักออร์แกนิคได้ผลลัพธ์เป็นอย่างดี ต้องมั่นใจก่อนครับว่า ดินที่ใช้ปลูกนั้นมีประสิทธิภาพมากพอ ผักในฟาร์มจะได้รับแต่สารอาหารดี ๆ ครับ เพราะถ้าดินที่ใช้ปลูกดีแล้ว ก็จะทำให้พืชผักแข็งแรง แต่ถ้าใช้ดินที่มีส่วนผสมของสารเคมี นอกจากจะเป็นสารเจือปนในอาหารที่ทานกันแล้ว ยังเป็นอันตรายต่อแบคทีเรียชั้นดี หนอน และจุลินทรีย์ในดินอีกด้วยครับ หากอยากทราบว่าดินที่จะใช้ปลูกผักดีหรือไม่ ผู้ปลูกสามารถนำเศษดินมาทดลองได้ด้วยตัวเอง หรือจะนำไปให้ผู้เชี่ยวชาญทดลองให้ก็ได้ครับ การทดลองหลัก ๆ ก็คือ การตรวจสอบค่า pH และวัดระดับคุณค่าของสารอาหารนั่นเองครับ




ทำปุ๋ยหมัก

          ลำดับต่อไปคือ การทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยหมักถือเป็นอาหารชั้นดีของผักเลยนะครับ แล้วทุกคนก็สามารถทำได้เองที่บ้านด้วย อย่างที่ทราบกันครับว่า ปุ๋ยหมักมีประโยชน์ต่อพืชผักหลายอย่างเลย เป็นทั้งสารอาหาร สามารถอุ้งน้ำได้ดี ขจัดสิ่งที่ไม่จำเป็นสำหรับพืชผักออกไป และยังช่วยกักเก็บสารอาหารไว้ในตอนที่เปลี่ยนกระถางอีกด้วยครับ



เลือกพันธุ์พืชที่ใช่

          ขั้นตอนนี้ อาจต้องใช้เวลาสักหน่อยสำหรับการเลือกพันธุ์พืชที่ตรงกับความต้องการ และสามารถเจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ปลูกที่มีเงื่อนไขเฉพาะ โดยพื้นฐานแล้ว การเลือกพันธุ์พืชคือ เลือกพันธุ์พืชที่สามารถปรับตัวรับแสงในแต่ละช่วงเวลาได้ดี มีความชุ่มชื้น ระบายน้ำได้ดี และปรับสภาพรับกับดินได้ หรือถ้าใครจะซื้อต้นอ่อนมาปลูก ก็ควรจะเลือกพันธุ์พืชที่สามารถเติบโตได้ง่ายโดยไม่ต้องใช้ปุ๋ยเคมี หรือยากำจัดศัตรูพืชนะครับ



หว่านเมล็ดพันธุ์พืช

          เมื่อเตรียมดิน ทำปุ๋ยหมัก และเลือกพันธุ์พืชที่ต้องการกันแล้ว ลำดับต่อไปก็คือ การหว่านเมล็ดพันธุ์พืชลงดินหรือฝังต้นอ่อนลงในแปลงผัก ผมแนะนำให้โรยเมล็ดไว้ใกล้ ๆ กัน และจัดกลุ่มเพื่อไม่ให้กระจัดกระจาย เพราะตอนที่ลดน้ำจะได้ไม่ต้องใช้ปริมาณน้ำเยอะมากเกินไป และยังช่วยให้จำแนกสารอาหารของพันธุ์พืชแต่ละชนิดได้ง่ายมากขึ้นด้วยครับ นอกจากนั้น ช่องว่างระหว่างแถวแปลงผักก็มีผลต่อการถ่ายเทอากาศ และยังกำจัดเชื้อราวัชพืชได้ดีอีกด้วย อย่าลืมกะช่องว่างระหว่างแปลงผักกันด้วยนะครับ



รดน้ำ

          หลังจากผ่านขั้นตอนการหว่านเมล็ด หรือฝังต้นอ่อนกันแล้ว ต่อไปจะเริ่มเข้าสู่กระบวนการดูแลรักษาพันธุ์พืชกันครับ ซึ่งผมจะเริ่มต้นด้วย วิธีการรดน้ำ ช่วงเวลาที่ดีที่สุดสำหรับการรดน้ำแปลงผักออร์แกนิคคือ ตอนเช้าครับ ทุกคนอาจทราบกันว่า เรามักจะรดน้ำต้นไม้ในช่วงเช้าใช่ไหมครับ ? แต่ทราบไหมครับว่าทำไม ? เพราะในช่วงเช้าอากาศจะค่อนข้างเย็น และมีลมพัดน้อยกว่าช่วงเวลาอื่น ๆ ทำให้ปริมาณการระเหยของน้ำนั้นลดลงตามไปด้วยครับ แต่ถ้าหากรดน้ำตอนเย็น ก็จะทำให้พืชผักอยู่กับความชื้นข้ามคืน ซึ่งจะทำให้พืชผักได้รับความเสียหายจากเชื้อราและแบคทีเรียครับ อย่าลืมว่าเวลาที่รดน้ำ ให้รดบริเวณราก ไม่ใช่รดลงไปที่ต้นผักนะครับ มิเช่นนั้น ผักที่ปลูกอาจเสียหายได้ง่าย ๆ เลย



การกำจัดวัชพืช

          กว่าจะถึงวันเก็บเกี่ยว และนำมาทำเป็นอาหารได้ ต้องผ่านการดูแลหลายขั้นตอน ซึ่ง การกำจัดวัชพืช หรือดึงใบเสียออก ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีการดูแลพันธุ์พืชครับ อาจจะใช้มือดึงออกหรือใช้กรรไกรตัดแต่งพันธุ์พืชก็ได้ครับ เมื่อกำจัดวัชพืชหรือตัดใบเสียบางส่วนออกไปแล้ว ก็อาจจะใส่ปุ๋ยทดแทนลงไปเพื่อช่วยป้องกันหน้าดินเสื่อมก็ได้ครับ




ดูแลพันธุ์พืชได้ไม่ง้อยาฆ่าแมลง

          อย่าลืมสังเกตศัตรูพืช ที่มักจะมาเยี่ยมเยียนแปลงผักของทุกคนด้วยนะครับ เพราะถ้าเริ่มเห็นศัตรูพืชบนแปลงผักเมื่อไหร่ นับว่าเป็นรางร้ายอย่างหนึ่งต่อพันธุ์พืชแล้วครับ อาจสังเกตง่าย ๆ ตรวจเช็คได้ในขั้นแรกก่อนว่า แปลงผักได้รับแสง สารอาหาร หรือความชุ่มชื้นเพียงพอหรือไม่ และยังมีอีกทริคเล็ก ๆ ที่ผมอยากมาแชร์ต่อทุกคนด้วยครับว่า การปลูกพันธุ์พืชให้หลากหลาย ก็สามารถป้องกันภัยคุกคามจากศัตรูพืชได้อีกด้วยนะครับ




ฤดูเก็บเกี่ยว

          หลังจากที่เฝ้าดูแลฟาร์มผักมาตั้งแต่เตรียมพื้นที่ ทำปุ๋ยหมัก หว่านเมล็ดพืช และกำจัดศัตรูพืชกันมาแล้ว เมื่อผักออร์แกนิคเติบโตมากพอให้เก็บเกี่ยว และนำมาทำอาหารได้ ก็สามารถใช้มีดหรือกรรไกรขนาดเล็กที่ตัดได้ แต่อย่าลืมกันว่า !! ต้องหมั่นดูแลและเช็คสภาพหน้าดินอย่างสม่ำเสมอด้วยนะครับ




เก็บผัก ชะล้าง

          ในขั้นตอนสุดท้าย หากหมดฤดูกาลเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวแล้ว ต้องดึงพันธุ์พืชออกให้หมดอย่าให้มีเศษตกค้างนะครับ ไม่เช่นนั้น ก็อาจทิ้งร่องรอยของโรคต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับพันธุ์พืชที่จะนำมาปลูกในครั้งต่อไปได้



          ผักออร์แกนิคที่ปลูกไว้แล้วไม่ได้เก็บเกี่ยวมาทำเป็นอาหาร ส่วนมากแล้วมักจะเหี่ยวเฉาและตายไปในช่วงหน้าหนาวครับ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะไม่ได้เก็บมาทำเป็นอาหารทานกันเอง แต่ก็สามารถเป็นอาหารของสัตว์ตัวเล็กตัวน้อยที่มาเยี่ยมบ้านเราบ่อย ๆ ได้นะครับ เช่น นก กระรอก เป็นต้น
          สำหรับใครที่ยังไม่รู้ว่าจะปลูกอะไรดี ผมแนะนำให้เริ่มจาก กรีนโอ๊ค เรสโอ๊ค บัตเตอร์เฮส ก็ได้นะครับ เพียงเท่านี้ ทุกคนก็จะได้ทานสลัดผักออร์แกนิค และอาหารออร์แกนิคจากผักที่ปลูกกันเอง นอกจากจะปลอดภัยแล้ว ยังประหยัดค่าใช้จ่ายได้เยอะเลย เห็นแล้วใช่ไหมครับว่า การสร้างฟาร์มผักออร์แกนิคก็ทำให้ทุก ๆ คนในบ้านมีความสุขไปด้วยเช่นกัน

 

แบบบ้านในฝัน