ปรับฟังก์ชันบ้านอย่างไร
ให้ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ผู้สูงอายุ ?
สาระเรื่องบ้านวันนี้ ผมจะมาพูดถึงการออกแบบบ้าน และการปรับฟังก์ชันบ้านให้เหมาะกับผู้สูงอายุครับ สำหรับบ้านไหนที่มีผู้สูงวัยอาศัยอยู่ด้วย ไม่ว่าจะเป็น คุณพ่อ คุณแม่ หรือคุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยาย การคำนึงถึงเรื่องความปลอดภัย คงจะต้องมาเป็นอันดับแรกใช่มั้ยครับ ? เช่นนั้นแล้ว การออกแบบบ้าน หรือการปรับเปลี่ยนพื้นที่และฟังก์ชันต่าง ๆ ในบ้าน จะต้องมีความปลอดภัย และอำนวยความสะดวกต่อผู้ใช้งานภายในบ้านให้ได้มากที่สุดครับ
ปัญหาส่วนใหญ่ของการออกแบบบ้านที่ไม่ได้รองรับผู้สูงอายุคือ ประตูและทางเข้าบ้านค่อนข้างแคบ ทำให้ผู้สูงอายุที่ใช้วีลแชร์ไม่สามารถเข้า-ออกบ้านได้อย่างสะดวก อีกทั้งการออกแบบบันไดที่สูงและชัน ห้องครัวและห้องน้ำที่สามารถเข้าถึงได้ยาก ล้วนเป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตในบ้านได้ทั้งสิ้น ซึ่งบทความนี้ ผมจะพาทุกคนไปดูตัวอย่างงานดีไซน์ฟังก์ชันบ้านที่เหมาะสมกับการใช้งานและการอยู่อาศัยของผู้สูงอายุ เผื่อว่าทุกคนจะนำไปใช้เป็นไอเดียในการปรับแต่งพื้นที่ เพื่อให้สมาชิกในบ้านสามารถใช้งานได้ง่าย สะดวก และปลอดภัยครับ
“ลูกบิดก้านโยก”
บ้านไหนที่ยังใช้ลูกบิดประตูอยู่ ควรจะเปลี่ยนเป็นลูกบิดก้านโยกครับ โดยทั่วไปแล้ว หลาย ๆ บ้านอาจจะใช้ลูกบิดประตูทรงกลม ซึ่งลูกบิดประตูทรงนี้จะทำให้ใช้งานได้ยากสำหรับผู้สูงอายุครับ เช่น ในตอนที่มือเปียกน้ำ หรือในตอนที่ยกของ จะทำให้เปิดประตูได้ยาก และไม่สะดวกต่อการใช้งานครับ ซึ่งถ้าหากเปลี่ยนเป็นลูกบิดประตูก้านโยก ถึงแม้ว่ามือจะเปียกหรือถือของหนักอยู่ ก็ยังสามารถใช้แขนเปิดประตูแทนได้นั่นเองครับ
“ความสว่างของไฟแบบพอดี ยกระดับความปลอดภัย”
แสงไฟที่มีความสว่างกำลังพอดี จะช่วยเสริมสร้างความปลอดภัยให้กับสมาชิกในบ้านได้ครับ ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้ไฟสว่างจ้ามากเกินไป และไม่ควรปรับแสงไฟให้มืดสลัว เนื่องจากจะกลายเป็นอุปสรรคต่อการมองเห็นของผู้สูงอายุ เมื่อเดินไปยังส่วนต่าง ๆ ของบ้านครับ ส่วนมากแล้วทุกบ้านก็มักจะติดไฟในจุดที่สำคัญ ๆ ของบ้าน ซึ่งจะมีจุดไหนอีกนั้น ไปดูกันครับ
▪ ติดไฟให้มีความสว่างเพียงพอสำหรับพื้นที่บริเวณนอกบ้าน โต๊ะอ่านหนังสือ ห้องน้ำ ทางขึ้นบันได และพื้นที่ที่ใช้งานบ่อย ๆ อย่างห้องครัว และสวนนอกบ้าน
▪ ติดตั้งโคมไฟดาวน์ไลท์หรือโคมไฟฝังฝ้า ไว้ที่โซนทำอาหาร หรือเคาน์เตอร์ครัว
▪ ติดตั้งไฟที่ใช้ “สวิตซ์” เปิด-ปิดขนาดใหญ่ เพื่ออำนวยความสะดวกต่อการใช้งาน เช่น ในตอนที่ถือของเต็มมือ ก็ยังสามารถใช้ข้อศอกเปิดไฟแทนได้
▪ ติดตั้งสวิตซ์ไฟเปิด-ปิด บริเวณทางบรรได
▪ เปิดไฟไว้ช่วงเวลากลางคืน เพื่อความสะดวกในการเข้าห้องน้ำตอนกลางคืน
▪ ติดตั้งไฟฉุกเฉิน เพื่อใช้แทนในวันที่ไฟดับ ซึ่งสามารถติดตั้งไว้บริเวณนอกบ้าน ห้องครัว หรือโถงบันไดก็ได้ครับ
▪ ติดตั้งบานหน้าต่าง และช่องแสงให้มากพอ เพื่อให้บ้านได้รับแสงสว่างจากธรรมชาติ ดูปลอดโปร่ง นอกจากนั้น ยังทำให้ผู้สูงอายุได้รับวิตามินดีจากแสงแดดด้วยนะครับ
“ตำแหน่งการติดตั้งปลั๊กไฟ”
ในยุคนี้ นอกจากผู้สูงอายุจะปวดหลังแล้ว วัยรุ่นก็มีอาการปวดหลังด้วยอยู่บ่อย ๆ ใช่มั้ยครับ ? เช่นนั้นแล้ว การติดตั้งปลั๊กพ่วงจะต้องวางให้ถูกตำแหน่ง ไม่ควรวางไว้ที่พื้น เพราะถ้าหากจะต้องก้ม ๆ เงย ๆ เพื่อเปิด-ปิดสวิตซ์ไฟ นอกจากจะปวดหลังแล้ว ยังอาจมีอาการหน้ามืดตามมาในบางครั้งก็ได้ครับ ซึ่งตำแหน่งของการวางปลั๊กพ่วง เพื่อให้สะดวกต่อการใช้งานนั้น ควรจะอยู่ในความสูงที่พอดี เช่น บนโต๊ะ หรือบนเคาน์เตอร์ เป็นต้นครับ
“ห้องน้ำที่ปลอดภัยสำหรับผู้สูงอายุ”
“ราวจับ” ถือเป็นอุปกรณ์สำคัญที่คอยช่วยพยุงตัวผู้สูงอายุในตอนเคลื่อนไหวร่างกาย เช่น จะลุก จะนั่ง หรือจะเคลื่อนตัวไปยังที่ต่าง ๆ ดังนั้น ควรจะติดตั้งราวจับไว้ในพื้นที่ที่ผู้สูงอายุจะต้องเข้าไปใช้งานหรือเคลื่อนที่ผ่านบ่อย ๆ เช่น ห้องน้ำ ที่ควรจะติดตั้งราวทรงตัว ทั้งบริเวณข้างโถสุขภัณฑ์ ข้างอ่างล่างหน้า และบริเวณที่อาบน้ำ เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ครับ
“ดีไซน์ห้องครัว ให้สะดวกต่อการใช้งาน”
การออกแบบห้องครัวให้เหมาะสมกับการใช้งานของผู้สูงอายุ ควรจะเป็น “ห้องครัวรูปแบบสามเหลี่ยม” ครับ เพราะจะสามารถเป็นพื้นที่เชื่อมต่อระหว่างสิ่งของต่าง ๆ ในครัวได้อย่างพอดี ทั้งตู้เย็น ตู้กับข้าว เตาแก็ส และอุปกรณ์อื่น ๆ ยิ่งออกแบบให้พื้นที่กว้างมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งสะดวกต่อการเคลื่อนไหวร่างกายมากยิ่งขึ้น นอกจากนั้น การติดตั้งชุดครัวแบบบิวท์อิน ยังต้องติดตั้งด้วยความสูงที่พอดี เพื่อใช้สะดวกต่อการใช้งานของสมาชิกในบ้านที่เป็นผู้สูงอายุครับ
“ออกแบบทางเข้าบ้านให้ กว้าง เข้าไว้ และเพิ่มเก้าอี้ยาว”
การออกแบบทางเข้าบ้าน และการเลือกใช้ประตูบ้าน หรือประตูห้องต่าง ๆ จะต้องออกแบบให้กว้างเข้าไว้ครับ โดยมีความกว้างไม่ต่ำกว่า 90 เซนติเมตร เพื่อให้ผู้สูงอายุที่ใช้วีลแชร์สามารถเคลื่อนที่ไปยังจุดต่าง ๆ ได้สะดวก และต้องเผื่อให้สามารถหมุนวีลแชร์กลับตัวได้ด้วยครับ หรือถ้าหากเปลี่ยนเป็นประตูบานเลื่อน และใช้ลูกบิดก้านโยกได้ ก็จะยิ่งสะดวกต่อการใช้งานของผู้สูงอายุมากขึ้นครับ
บริเวณทางเข้าควรจะหา “เก้าอี้ยาว” มาวางไว้ เพราะผู้สูงอายุมักจะเหนื่อยง่าย และเคลื่อนไหวร่างกายลำบาก สามารถใช้เก้าอี้ตัวนี้เพื่อนั่งพัก หรือนั่งตอนใส่ถุงเท้า รองเท้าก็ได้ครับ
“ออกแบบบันไดให้มี ราวจับ”
สำหรับใครที่มีแพลนจะสร้างบ้านใหม่ แล้วเป็นบ้านสองชั้น ไม่ควรออกแบบบันไดให้ชันเกินไป เพื่อให้ระยะห่างระหว่างขั้นบันไดมีพื้นที่กว้างมากพอ และควรจะเลือกใช้บันไดที่มีราวจับ เพื่อให้ผู้สูงอายุใช้พยุงตัวระหว่างทางขึ้นบันไดนั่นเองครับ ส่วนถ้าเป็นบ้านที่พักอาศัยกันมาแต่เดิม สามารถรีโนเวท หรือติดตั้งราวจับทั้ง 2 ฝั่งเพิ่มเข้าไป ก็ทำให้สะดวกต่อการใช้งานของผู้สูงอายุแล้วครับ
ออกแบบภายในให้สัมพันธ์กับไลฟ์สไตล์ผู้สูงอายุ
การตกแต่งภายใน และการเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์สำหรับบ้านที่มีผู้สูงอายุ ควรจะคำนึงถึงการออกแบบที่สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของผู้สูงอายุครับ เช่น ถ้าต้องการปูพรม ก็ควรจะติดแผ่นกันลื่นรองไว้ด้านใต้ หรือการเลือกใช้สีของเฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ ก็ควรจะเลือกสีที่ผู้สูงอายุจะมองเห็นความแตกต่างได้อย่างชัดเจน เช่น สีของเก้าอี้ โซฟา ต้องแตกต่างจากสีพื้นบ้าน หรือสีของโถสุขภัณฑ์ต้องแตกต่างจากสีกระเบื้องห้องน้ำ เป็นต้นครับ ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดจากการมองไม่เห็น หรือการเคลื่อนไหวร่างกายไม่ค่อยสะดวกของผู้สูงอายุครับ
และทั้งหมดนี้คือ เทคนิคการปรับพื้นที่ให้เหมาะสมกับการที่มีผู้สูงอายุอาศัยอยู่ในบ้าน หรือถ้าหากบ้านไหนที่ตอนนี้ยังไม่มีผู้สูงอายุอาศัยอยู่ด้วย ก็สามารถใช้เป็นแนวทางการออกเพื่อการใช้งานในอนาคตก็ได้ครับ ทั้งนี้ ก็เพื่อให้สะดวกต่อการใช้งาน และสร้างความปลอดภัยให้กับผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ในบ้านนั่นเองครับ